รังแค สาเหตุ อาการ วิธีแก้ และการดูแลหนังศีรษะอย่างครบวงจร
รังแค เป็นปัญหาหนังศีรษะที่กวนใจใครหลายคน เนื่องจากจะทำให้มีเกล็ดหรือขุยสีขาวบนหนังศีรษะ ทั้งยังก่อให้เกิดอาการคัน จนต้องเกาศีรษะบ่อย ๆ ทำให้บุคลิกดูไม่ดี และทำให้หลายคนเสียความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม รังแคสามารถแก้ไขได้ด้วยการดูแลหนังศีรษะอย่างถูกวิธี ในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรังแค ตั้งแต่สาเหตุของรังแค จนถึงอาการรังแค และวิธีแก้รังแค จะมีอะไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบ
รังแคคืออะไร? เข้าใจสาเหตุและการเกิดรังแค
รังแค (Dandruff) คืออาการหนังศีรษะอักเสบรูปแบบหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ถือเป็นปัญหาหนังศีรษะที่พบได้บ่อย โดยรังแคเกิดจากเซลล์หนังศีรษะลอกจนเป็นขุย หรือมีสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะ ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการคัน โดยสะเก็ดสีขาวจะสามารถพบได้ทั้งบริเวณเส้นผม โคนผม คิ้ว ไปจนถึงใบหู ในบางกรณีอาจหลุดร่วงลงมาบนเสื้อผ้า จนทำให้มองเห็นได้ชัด
สาเหตุหลักของรังแค ทำไมหนังศีรษะถึงเป็นขุย?
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดรังแคบนหนังศีรษะ มีดังนี้
- เชื้อราบนหนังศีรษะ: โดยทั่วไปบนหนังศีรษะจะมีเชื้อรา หรือยีสต์ ที่เรียกว่า Malassezia ซึ่งจะกินน้ำมันที่สร้างจากต่อมรากผมและต่อมไขมันเป็นอาหาร ในกรณีที่เชื้อราอยู่ในระดับปกติก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร แต่ถ้าหากเชื้อราเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดการผลัดเซลล์ผิว จนก่อให้เกิดรังแคได้
- หนังศีรษะแห้ง: หนังศีรษะแห้งจะส่งผลให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวอย่างรวดเร็ว ทำให้หนังศีรษะตกสะเก็ดและหลุดออกมาเป็นรังแคได้
- หนังศีรษะมัน: หนังศีรษะมัน เป็นปัญหาที่เกิดจากต่อมไขมันใต้หนังศีรษะผลิตน้ำมันมากเกินไป และกระตุ้นเชื้อราบนหนังศีรษะให้เจริญเติบโตเร็วกว่าปกติ
- โรคผิวหนัง: โรคผิวหนัง เช่น เซ็บเดิร์ม หรือสะเก็ดเงิน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดรังแค อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นโรคผิวหนัง แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างจริงจัง
- การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม: การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมี อาจส่งผลให้หนังศีรษะเกิดการระคายเคือง และส่งผลให้เกิดรังแคได้
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน: พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกายจนมีเหงื่อและไม่สระผม มีส่วนทำให้เกิดรังแคได้
- ปัจจัยภายใน: ปัจจัยภายใน เช่น อายุ เพศ ฮอร์โมน ความเครียด รวมถึงพันธุกรรม ล้วนมีส่วนทำให้เกิดรังแค
- ปัจจัยภายนอก: ปัจจัยภายนอก เช่น สภาพอากาศ อุณหภูมิ มลภาวะ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดรังแคได้
รู้ทันสัญญาณ รังแคมีลักษณะอย่างไร?
รังแค สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย โดยจะมีลักษณะเป็นสะเก็ดสีขาวหรือเหลือง เป็นแผ่นบาง ๆ หลุดออกมาจากหนังศีรษะ พบได้ที่เส้นผม หรือบนเสื้อผ้า ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการคัน ในกรณีที่อักเสบ อาจส่งผลให้หนังศีรษะมันและแดง รวมถึงมีอาการบวมได้
เลือกผลิตภัณฑ์ดูแลหนังศีรษะอย่างไรให้เหมาะ
การเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลหนังศีรษะ แนะนำให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม ดังนี้
- Zinc Pyrithione: ช่วยลดเชื้อรา Malassezia ซึ่งเป็นต้นเหตุของรังแค
- Coal Tar: น้ำมันดิน มีส่วนช่วยชะลอการผลัดเซลล์ผิว
- Tea Tree Oil: ช่วยดูแลและควบคุมความมันบนหนังศีรษะ
- Ketoconazole: เป็นยากำจัดเชื้อรา ช่วยลดจำนวนเชื้อรา Malassezia บนหนังศีรษะได้
- Selenium Sulfide: ช่วยชะลอกระบวนการผลัดผิว และลดเชื้อรา Malassezia
- Piroctone Olamine: มีส่วนช่วยลดเชื้อรา Malassezia
- Aloe Vera: ให้ความชุ่มชื้นกับหนังศีรษะ และช่วยบรรเทาความระคายเคือง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดรังแคแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีการระคายเคือง ควรหยุดใช้ และเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสม
ปรับพฤติกรรมช่วยลดรังแค
การรักษารังแคด้วยตัวเอง สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้
- เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์: การเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ และเหมาะกับสภาพศีรษะของแต่ละคน เช่น ซิงค์ วิตามินบี กรดไขมันโอเมก้า 3 ล้วนมีผลดีต่อต่อมไขมัน ช่วยปรับสภาพหนังศีรษะได้เป็นอย่างดี
- ลดความเครียด: ความเครียด เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดรังแคได้ ดังนั้น การหาวิธีจัดการกับความเครียด จะช่วยลดรังแคและมีผลต่อหนังศีรษะ
- สระผมอย่างถูกวิธี: การสระผม เป็นขั้นตอนสำคัญที่ส่งผลต่อน้ำมันบนหนังศีรษะ ดังนั้น จึงควรสระผมอย่างถูกวิธี แนะนำให้สระผมสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยใช้น้ำอุณหภูมิปกติ เนื่องจากการใช้น้ำร้อนอาจทำให้หนังศีรษะแห้ง และควรนวดหนังศีรษะอย่างนุ่มนวล ไม่ควรเกาแรง ๆ
- หลีกเลี่ยงสารเคมี: สารเคมี เช่น น้ำยาย้อมผม ครีมยืดผม ครีมดัดผม ล้วนส่งผลให้หนังศีรษะเกิดการระคายเคือง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี
- ดูแลเส้นผมอย่างนุ่มนวล: การดูแลเส้นผมอย่างนุ่มนวล แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเกาศีรษะและหวีผมแรง ๆ เนื่องจากจะทำให้รากผมถูกทำลาย จนมีอาการผมร่วงตามมาได้
- รักษาความสะอาด: แนะนำให้มีการดูแลหนังศีรษะให้สะอาด เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคหรือแบคทีเรีย
สารอาหารลดรังแคที่คุณควรกิน
อาหารที่มีประโยชน์ มีส่วนในการช่วยลดรังแคได้ โดยอาหารที่ช่วยป้องกันรังแค มีดังนี้
- อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3: อาหารที่มีไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพหนังศีรษะ ทั้งยังลดอาการคันและระคายเคือง
- อาหารที่มี Zinc: อาหารที่มีสังกะสี เช่น เนื้อสัตว์ ถั่วและเมล็ดพืช เมล็ดฟักทอง ถั่วเหลือง ล้วนช่วยบำรุงผิวหนังให้มีสุขภาพดี และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างเต็มที่
- อาหารที่มีวิตามิน B: อาหารที่มีวิตามิน B เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด กล้วย อะโวคาโด มีส่วนช่วยควบคุมการผลิตน้ำมันในหนังศีรษะ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดรังแค
- อาหารที่มี Selenium: เนื้อปลา เช่น ปลาทู ปลาดุก เนื้อปู หอยแมลงภู่ มีซิลิเนียม ซึ่งจะช่วยควบคุมรากผมให้ทำงานปกติ
- อาหารที่มีวิตามิน D: แซลมอน ทูน่า ปลาซาร์ดีน มีวิตามิน D ซึ่งช่วยปรับสมดุลภูมิคุ้มกัน และลดการเกิดรังแคจากผิวหนังอักเสบได้เป็นอย่างดี
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
โดยทั่วไป รังแคไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เนื่องจากสามารถควบคุมอาการได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีอาการบวมแดง หรือรักษารังแคมากกว่า 1 เดือน และอาการยังไม่ดีขึ้น ควรเข้าพบแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นโรคผิวหนังศีรษะที่มีอาการใกล้เคียงกับรังแค ควรให้แพทย์วินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม
คำถามที่พบบ่อย (FAQ)
สรุป
รังแค เป็นปัญหากวนใจที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง จนทำให้หลายคนเสียความมั่นใจ ในเบื้องต้นแนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ชีวิต เช่น เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ รักษาความสะอาด ลดพฤติกรรมทำร้ายเส้นผม เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับหนังศีรษะและช่วยแก้ปัญหารังแคโดยตรง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่รักษารังแคมามากกว่า 1 เดือน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้เข้าพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์หาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาอย่างเหมาะสม
แหล่งอ้างอิง
บทความโดย
เราคือโรงพยาบาลศัลยกรรมด้านความงามของประเทศไทยและเอเชีย มีความต้องการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนเกี่ยวกับบริการศัลยกรรมด้านความงาม โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช ดูแลคุณตั้งแต่การให้คำปรึกษาไปจนถึงหลังการผ่าตัด โดยทีมแพทย์มากประสบการณ์ที่มีประสบการณ์ มอบบริการครบวงจรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ดำเนินการภายใต้มาตรฐานการรักษาพยาบาล ของโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการให้บริการสถานพยาบาลระดับสากล AACI
ข้อมูลการติดต่อโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช
ตั้งอยู่ที่ 99/19 ถนนสุไขทัย แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300