เผย 10 ปัญหาเส้นผมกวนใจ พร้อมวิธีแก้และบำรุงให้ผมกลับมาสวย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเส้นผมถือเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อความมั่นใจและบุคลิกภาพของใครหลายคน และไม่ว่าใครก็ต้องการให้เส้นผมของตัวเองมีความแข็งแรงและสุขภาพดี แต่ปัญหากวนใจที่หลายคนต้องเผชิญ คงหนีไม่พ้น “ผมบาง ผมร่วง ผมเสีย” ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ทำให้ดูแก่กว่าวัย จัดทรงผมไม่ได้ตามความต้องการ อีกทั้งยังต้องคอยปกปิดผมส่วนที่หายไป ในบทความนี้จึงจะมาพูดถึง 10 ปัญหาเส้นผม พร้อมทั้งสาเหตุ และจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร
ผมร่วง (Hair Loss)
ผมร่วง เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ถือเป็นปัญหาเส้นผมอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ใครหลายคนเกิดความกังวล แม้จะไม่ได้มีความอันตรายใด ๆ แต่จะส่งผลต่อความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมีสาเหตุ อาการ และวิธีรับมือ ดังนี้
สาเหตุ:
ผมร่วง สามารถขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น
- พันธุกรรม: ถือเป็นสาเหตุหลักและพบได้มากถึง 80% โดยผมร่วงจากพันธุกรรมจะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
- ปัญหาฮอร์โมน: โดยจะมีผลจากฮอร์โมน DHT ซึ่งมีผลทำให้เส้นผมที่งอกใหม่มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ จนเส้นผมบางลง และไม่สามารถปกปิดหนังศีรษะได้ ท้ายที่สุดก็จะบางจนไม่เหลือเส้นผมบนศีรษะ
- ความเครียดสะสม: ปัญหาความเครียดสะสม มักจะพบในผู้ที่ต้องเผชิญกับความเครียดอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจากการทำงาน, การเรียน, ครอบครัว ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนความเครียด จนเส้นผมอ่อนแอลงได้
- การขาดสารอาหาร: ปัญหาขาดสารอาหาร มักจะพบในผู้ที่ลดน้ำหนักแบบผิดวิธี ส่งผลให้เส้นผมเปราะ และเกิดภาวะผมร่วง โดยเฉพาะคนที่ขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากธาตุเหล็กมีผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม
- ยาบางชนิด: การรับประทานยา วิตามิน หรืออาหารเสริมบางชนิด จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของรากผม ซึ่งส่งผลให้เกิดผมร่วงได้ ในเบื้องต้นอาจมีการงดการรับประทานยา จะช่วยให้ปัญหาผมร่วงค่อย ๆ ดีขึ้น
- โรคประจำตัว: โรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นโรคผิวหนัง หรือโรคไทรอยด์ ล้วนส่งผลให้เกิดการอักเสบ ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของเส้นผม ทั้งยังมีโอกาสติดเชื้อราบนหนังศีรษะได้อีกด้วย
อาการ:
สำหรับอาการของผมร่วง ในกรณีที่สระผมเป็นประจำ จะมีผมร่วงวันละ 100-150 เส้น และในกรณีที่ไม่ได้สระผมเป็นประจำ จะมีผมร่วงมากกว่า 200 เส้น โดยจะมีผมร่วงเป็นกระจุก ซึ่งหลังจากมีผมร่วงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้แนวผมร่น และผมบนศีรษะเริ่มบางลงเรื่อย ๆ
วิธีรับมือและดูแล:
แนวทางในการรับมือและดูแลปัญหาผมร่วง ในเบื้องต้นอาจมีการแก้ปัญหาจากต้นเหตุ เช่น สำหรับคนที่มีความเครียดสะสม อาจเริ่มจากการลดความเครียด, สำหรับคนที่ขาดสารอาหาร อาจเลือกทานอาหารเสริมที่เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย, เลือกใช้ยาตามอาการ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ปัญหาผมร่วงรุนแรงขึ้น อาจมีการปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคน หรือเข้ารับการปลูกผม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว และได้รับผลลัพธ์ตรงตามความต้องการ
ผมบาง (Hair Thinning)
ผมบาง เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากปัญหาผมร่วง และเป็นปัญหากวนใจสำหรับใครหลายคนไม่แพ้ผมร่วง โดยปัญหาผมบาง มีสาเหตุ อาการ และวิธีรับมือ ดังนี้
สาเหตุ:
ผมบางเกิดจากสองปัจจัยหลัก ได้แก่
- ภาวะผมร่วง: ภาวะผมร่วง เกิดจากการขาดสารอาหาร, ความเครียดสะสม, การใช้ยา, โรคประจำตัว ส่งผลให้วงจรเส้นผมถูกกระตุ้นจนเกิดการขาดหลุดร่วง และทำให้ผมบนศีรษะค่อย ๆ บางลง
- พันธุกรรม: พันธุกรรม มีส่วนในการทำให้เส้นผมมีความไวต่อฮอร์โมนแอนโดรเจน ส่งผลให้เส้นผมบางลง บริเวณด้านบนและด้านหน้าของศีรษะ และจะรุนแรงขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น
อาการ:
อาการของผมบางที่สังเกตเห็นได้ชัดคือหนังศีรษะเห็นชัดขึ้น และผมดูบางลง ในกรณีของคุณผู้ชายอาจมีการเว้าแหว่งบริเวณด้านหน้า และตรงกลางศีรษะ ในขณะที่คุณผู้หญิงจะมีผมบางบริเวณกลางผมตามแนวแสกของผมแต่ละคน
วิธีรับมือและดูแล:
แนวทางในการรับมือปัญหาผมบาง แนะนำให้เลี่ยงสารเคมีที่ก่อให้เกิดปัญหาผมบาง และเข้าปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุ รวมถึงออกแบบการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุง เช่น แชมพูสระผม, ครีมนวด รวมถึงมีการทานอาหารเสริม ซึ่งจะช่วยให้อาการผมบางค่อย ๆ ดีขึ้น ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสม
ผมแห้งเสีย (Dry and Damaged Hair)
ปัญหาผมแห้งเสีย เป็นปัญหาที่เส้นผมไม่ได้รับความชุ่มชื้น เนื่องจากไม่สามารถผลิตน้ำมันธรรมชาติออกมาได้มากพอ ส่งผลให้หนังศีรษะแห้ง ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิง โดยผมแห้งเสียมีสาเหตุ อาการ และวิธีรับมือ ดังนี้
สาเหตุ:
ผมแห้งเสีย เกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- แสงแดด: เนื่องจากแสงแดดมีรังสี UV ซึ่งจะดึงความชุ่มชื้นออกจากเส้นผม ทั้งยังทำลายเมลานิน หรือเม็ดสีของเส้นผม ซึ่งทำหน้าที่กรองแสง ส่งผลให้เกิดปัญหาผมแห้งเสียขึ้น
- สารเคมี: การใช้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็น ดัดผม, ยืดผม, ทำสีผม ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เมลานินในเส้นผมค่อย ๆ หายไป จนเกิดภาวะผมเสีย
- อายุเพิ่มขึ้น: เมื่ออายุเพิ่มขึ้น น้ำมันธรรมชาติบนเส้นผมจะผลิตได้น้อยลง ส่งผลให้ผมขาดความชุ่มชื้น และเกิดปัญหาผมแห้งเสีย
- ความร้อน: การใช้ความร้อนกับเส้นผม เช่น ไดร์ความร้อนสูง, เครื่องม้วนผม, เครื่องหนีบผม จะส่งผลให้ความชุ่มชื้นหลุดจากเส้นผมอย่างรวดเร็ว จนเกิดการแห้งเสีย ทั้งยังทำลายโครงสร้างเคราติน ซึ่งเป็นโปรตีนดูแลเส้นผม จนเกิดผมหลุดร่วง และผมแตกปลายได้
อาการ:
อาการของผมแห้งเสีย จะสังเกตเห็นได้ชัดว่ามีผมแตกปลาย ผมชี้ฟู และผมขาดความเงางาม เมื่อสัมผัสจะรู้สึกว่าแห้งติดมือ อีกทั้งยังขาดความยืดหยุ่น
วิธีรับมือและดูแล:
แนวทางในการรับมือผมแตกปลาย สามารถทำได้โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงที่เหมาะกับเส้นผมของแต่ละคน เช่น ยาสระผม, ครีมนวด รวมถึงใช้ทรีตเมนต์ ควบคู่ไปกับการหลีกเลี่ยงสารเคมี และเลี่ยงความร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาผมเสีย จะช่วยให้เส้นผมค่อย ๆ แข็งแรงขึ้น และช่วยคืนความมั่นใจให้คุณผู้หญิงอีกครั้ง
ผมมัน (Oily Hair)
ผมมัน เป็นปัญหาที่ใครหลายคนต้องเผชิญ ถึงแม้จะไม่ได้มีความรุนแรงเท่าผมร่วง ผมเสีย แต่ผมมันจะทำให้เกิดการสะสมสิ่งสกปรกบนหนังศีรษะ และหากทิ้งไว้ในระยะยาวก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาหนังศีรษะอย่างรังแคตามมาได้ โดยสาเหตุ อาการ และแนวทางรับมือปัญหาผมมัน มีดังนี้
สาเหตุ:
ผมมัน สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- ต่อมไขมันบนศีรษะผลิตน้ำมันมากเกินไป: การผลิตน้ำมันบนหนังศีรษะมากเกินไป มีผลมาจากการผลิตฮอร์โมนที่มากเกินไป ซึ่งฮอร์โมนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยรุ่น, ประจำเดือน, ตั้งครรภ์ ส่งผลให้เกิดปัญหาผมมันได้
- การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม: การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม รวมถึงใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมมากเกินไป ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดผมมันได้
- สระผมบ่อยเกินไป: การสระผมบ่อยเกินไป หรือไม่สระผมจนเกิดสะสมสิ่งสกปรกบนหนังศีรษะ ล้วนส่งผลให้เกิดผมมันได้ แนะนำให้มีการสระผมโดยอิงตามปัจจัยและสภาพผมของแต่ละคน
อาการ:
อาการของผมมัน จะทำให้หนังศีรษะมันอย่างเห็นได้ชัด ผมมันเยิ้ม และผมลีบแบน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อความมั่นใจ และมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาหนังศีรษะอื่น ๆ ตามมา
วิธีรับมือและดูแล:
แนวทางในการรับมือปัญหาผมมัน คือสระผมแต่พอดี ไม่ถี่เกินไปหรือเว้นช่วงนานเกินไป โดยประเมินจากสภาพผมของแต่ละคน หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมัน รวมถึงเลือกใช้แชมพูควบคุมความมัน ซึ่งจะช่วยจัดการปัญหาผมมันโดยตรง
นอกจากนี้อาจมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ใช้น้ำเย็นในการทำความสะอาดผม, ไม่ใช้มือจับบ่อย หรือเสยผมบ่อยเกินไป, เปลี่ยนปลอกหมอนเป็นประจำ, หากมีเวลา อาจปล่อยให้ผมแห้งเองแทนการใช้ไดร์เป่าผม จะช่วยให้ปัญหาผมมันค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ
รังแค (Dandruff)
รังแค คือสะเก็ดขุยสีขาวบนศีรษะ ที่มาพร้อมอาการคัน จนเป็นปัญหากวนใจของใครหลายคน สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยสาเหตุ อาการ และวิธีรับมือปัญหารังแค มีดังนี้
สาเหตุ:
รังแค สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- ความเครียด: เมื่อเกิดความเครียดทางร่างกายและอารมณ์ จะส่งผลให้ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งผลให้เกิดรังแคได้
- ฮอร์โมน: เมื่อฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง จะทำให้เกิดการผลิตไขมันบนหนังศีรษะมากขึ้น จนทำให้หนังศีรษะอับชื้น และเกิดรังแคได้
- การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม: การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีรุนแรง อาจส่งผลให้หนังศีรษะเกิดการอักเสบ และระคายเคือง จนเกิดรังแคได้
- โรคผิวหนัง: โรคผิวหนัง เช่น เชื้อราบนหนังศีรษะ ถือเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดรังแคบนหนังศีรษะได้
อาการ:
อาการของรังแค คือมีขุยสีขาวบนหนังศีรษะ และคันหนังศีรษะ ซึ่งอาการคันหนังศีรษะ จะส่งผลให้มีอาการผมร่วงร่วมด้วย เนื่องจากหนังศีรษะที่โดนเสียดสีจากการเกา จะทำให้รากผมอ่อนแอ จนมีผมขาดหลุดร่วง
วิธีรับมือและดูแล:
สำหรับแนวทางในการรับมือรังแค แนะนำให้เลือกใช้แชมพูขจัดรังแค ควบคู่ไปกับการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลหนังศีรษะ ซึ่งจะช่วยลดอาการคัน และระคายเคือง รวมถึงไม่สระผมบ่อยเกินไป จนทำให้ศีรษะอับชื้น เลือกใช้ความร้อนที่เหมาะกับเส้นผม และเลี่ยงการใช้สารเคมี อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่รักษาปัญหาหนังศีรษะของตัวเองเกิน 1 เดือน และยังไม่ดีขึ้น สามารถเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างจริงจังได้
ผมแตกปลาย (Split Ends)
ปัญหาผมแตกปลาย เป็นปัญหากวนใจที่ทำให้เส้นผมชี้ฟู ไม่มีน้ำหนัก และแห้งกรอบ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิง โดยสาเหตุ อาการ และวิธีรับมือผมแตกปลาย จะมีดังนี้
สาเหตุ:
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดผมแตกปลาย มีดังนี้
- ความร้อน: การใช้ความร้อนกับเส้นผม รวมถึงการอยู่กลางแสงแดดเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีการป้องกัน จะส่งผลให้เกิดปัญหาผมแตกปลายได้
- การทำเคมี: การทำเคมี เช่น ยืดผม, ดัดผม, ทำสีผม โดยไม่มีการบำรุง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เส้นผมแห้งกรอบ จนเกิดปัญหาผมแตกปลายได้
- การดูแลที่ไม่ถูกวิธี: การดูแลผมที่ไม่ถูกวิธี เช่น ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม หรือหวีผมอย่างรุนแรง
- เส้นผมขาดสารอาหารที่จำเป็น: การขาดสารอาหารที่จำเป็น จะส่งผลให้เส้นผมขาดความชุ่มชื้น และทำให้เส้นผมอ่อนแอ จนเกิดการแตกปลาย
อาการ:
อาการของผมแตกปลาย คือบริเวณปลายผมแตกเป็นสองแฉกหรือมากกว่า คล้ายกิ่งไม้ ซึ่งยิ่งปลายผมแตกมาก ก็จะส่งผลให้ผมดูไม่มีน้ำหนัก แห้งฟู
วิธีรับมือและดูแล:
สำหรับแนวทางรับมือปัญหาผมแตกปลาย คนส่วนใหญ่อาจใช้วิธีเล็มปลายผม เพื่อแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง สามารถแก้ได้โดยไม่ต้องตัดผม แนะนำให้เลี่ยงพฤติกรรมทำร้ายผม เช่น หลีกเลี่ยงความร้อน, งดหวีผมอย่างรุนแรง, งดเกาหัวแรง ๆ, งดกระชากผมที่พันกัน พร้อมทั้งใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผม เช่น ครีมนวด, ทรีตเมนท์ รวมถึงสระผมอย่างถูกวิธี และรับประทานอาหารที่มีวิตามินบำรุงเส้นผม จะช่วยแก้ไขปัญหาผมแตกปลายได้เป็นอย่างดี
ผมชี้ฟู (Frizzy Hair)
ผมชี้ฟู เป็นปัญหากวนใจที่เกิดในผู้หญิง ซึ่งจะสืบเนื่องมาจากปัญหาผมแห้งเสีย โดยจะทำให้ผมยุ่ง จนจัดทรงได้ยาก และชี้ฟูไม่มีน้ำหนัก โดยผมชี้ฟูมีสาเหตุ อาการ และวิธีรับมือ ดังนี้
สาเหตุ:
สาเหตุของผมชี้ฟู ได้แก่
- ความร้อน: การใช้ความร้อน ไม่ว่าจะเป็นการไดร์ผม, ม้วนผม, ยืดผม ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เส้นผมชี้ฟูได้
- การใช้สารเคมี: การใช้สารเคมี เช่น ทำสีผม, ดัดผม, ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะกับเส้นผม จะส่งผลให้เส้นผมและหนังศีรษะถูกทำลาย จนเกิดการชี้ฟู และอาจมีปัญหารังแคตามมาได้
- การดูแลที่ไม่ถูกวิธี: การสระผมด้วยน้ำร้อนเป็นประจำ, การถอนผมหงอก, การหวีผมขณะเปียก, การมัดรวบตึง, การแกะเกาหนังศีรษะบ่อย ๆ พฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาผมแห้งเสีย และผมชี้ฟูต่อไปได้
- การขาดสารอาหาร: การขาดสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเส้นผม จะส่งผลให้ผมชี้ฟูได้
อาการ:
อาการของผมชี้ฟู จะทำให้ผมชี้โด่ชี้เด่ ผมไม่เรียบ ไม่มีน้ำหนัก จนจัดทรงได้ยาก แม้จะพยายามหวีหรือสางแต่สุดท้ายก็จะกลับมาชี้ฟู หรือแม้กระทั่งผ่านการจัดแต่งทรงผม ผมก็จะยังฟูจนสังเกตเห็นได้อยู่ดี
วิธีรับมือและดูแล:
สำหรับแนวทางการรับมือกับปัญหาผมชี้ฟู สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหา เช่น หลีกเลี่ยงการหวีผมบ่อย, ใช้ความร้อนที่เหมาะสมกับเส้นผม ควบคู่ไปกับการใช้ผลิตภัณฑ์ลดผมชี้ฟู และใช้ครีมนวดผม นอกจากนี้ อาจมีการใช้น้ำมันบำรุงผม รวมถึงหวีที่ไม่ก่อให้เกิดการเสียดสี รับประทานอาหารเสริมที่มีวิตามินช่วยบำรุงเส้นผม จะช่วยให้ผมชี้ฟูค่อย ๆ ดีขึ้นได้
ผมหงอก (Gray Hair)
ผมหงอก เป็นปัญหาที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญ โดยจะทำให้เซลล์เม็ดสีไม่สามารถสร้างเม็ดสีออกมาได้ตามปกติ ส่งผลให้เส้นผมกลายเป็นสีเทาหรือสีขาว ในกรณีที่เส้นผมขาวสนิท หมายความว่าเซลล์เม็ดสีหยุดทำงาน อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องของอายุ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดผมหงอก ดังนี้
สาเหตุ:
- อายุ: โดยทั่วไปผมหงอกจะเริ่มขึ้นเมื่ออายุ 40 ขึ้นไป เนื่องจากการทำงานของเซลล์เม็ดสีค่อย ๆ ลดลง ถือเป็นผมหงอกตามธรรมชาติซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้
- พฤติกรรม: พฤติกรรมของแต่ละคน เช่น ดื่มเหล้า, สูบบุหรี่, พักผ่อนน้อย, ไม่ดูแลตัวเอง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดผมหงอกก่อนวัย โดยเฉพาะการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ มีแนวโน้มที่จะเกิดผมหงอกเร็วกว่าปกติถึง 4 เท่า
- พันธุกรรม: พันธุกรรม ถือเป็นปัจจัยที่พบได้บ่อยที่สุด ในกรณีที่คนในครอบครัวมีผมหงอกก่อนวัย มีความเป็นไปได้ที่รุ่นลูกจะมีผมหงอกก่อนวัยเช่นเดียวกัน
- ความเครียด: ความเครียดสะสมจากปัจจัยต่าง ๆ ถือเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดผมหงอกได้
- โรคบางชนิด: โรคบางชนิด เช่น ด่างขาว, ไทรอยด์, โลหิตจาง, โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน โรคเหล่านี้จะทำให้เกิดผมหงอกก่อนวัยได้
อาการ:
สำหรับอาการของผมหงอก เป็นที่รู้กันดีคือจะทำให้เส้นผมเปลี่ยนสีไป เส้นผมสีขาวขึ้นทดแทนผมสีธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเซลล์เม็ดสีได้หยุดทำงานแล้ว
วิธีรับมือและดูแล:
ผมหงอกที่ขึ้นตามธรรมชาติเมื่ออายุเพิ่มขึ้น “ไม่สามารถรักษาได้” สามารถทำได้เพียงเล็มออก หรือย้อมผมเพื่อปกปิดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผมหงอกที่ขึ้นก่อนวัย จากปัจจัยอื่น ๆ สามารถชะลอได้ โดยการดูแลสุขภาพ ลดความเครียด และทานอาหารเสริม เพื่อไม่ให้เกิดผมหงอกก่อนวัย ในกรณีที่มีผมหงอกก่อนวัยจนเกิดความกังวล แนะนำให้เข้าปรึกษาแพทย์ที่มีประสบการณ์ เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสม
หนังศีรษะแห้ง (Dry Scalp)
หนังศีรษะแห้ง เป็นปัญหาที่เซลล์ผิวชั้นบนสุดของหนังศีรษะหลุดออกมา ส่งผลให้มีอาการคัน จนกวนใจใครหลายคน โดยสาเหตุของหนังศีรษะแห้ง มีดังนี้
สาเหตุ:
- การใช้แชมพูที่รุนแรง: การใช้แชมพูที่รุนแรงหรือมีความเข้มข้นสูง และมีส่วนประกอบของสารเคมี จะส่งผลให้หนังศีรษะแห้งได้
- อากาศแห้ง: อากาศแห้ง หรือสระผมด้วยน้ำที่อุณหภูมิสูง จะส่งผลให้หนังศีรษะแห้งเป็นขุย เกิดปัญหาหนังศีรษะแห้งได้
- โรคผิวหนัง: เช่น โรคกลาก, โรคเซ็บเดิร์ม ถือเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการมีเชื้อราบนหนังศีรษะ ส่งผลให้ผิวหนังมีลักษณะแดง คัน ตกสะเก็ด รวมถึงอาจมีอาการอักเสบร่วมด้วย
- หนังศีรษะไม่สะอาด: หนังศีรษะไม่สะอาด จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ฝุ่น, สารตกค้างที่สะสม จะส่งผลให้เกิดอาการคัน และหนังศีรษะแห้งได้
อาการ:
สำหรับอาการของหนังศีรษะแห้ง จะส่งผลให้ผิวลอกเป็นขุย หนังศีรษะแห้งคัน ทั้งยังมีตุ่มเล็ก ๆ และรอยแดงทั่วศีรษะ อาจมีสะเก็ดสีขาวหลุดออกมาเป็นแผ่นจากหนังศีรษะด้วย
วิธีรับมือและดูแล:
สำหรับแนวทางในการรับมือปัญหาหนังศีรษะแห้ง สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงความร้อนที่เป็นสาเหตุหลัก ควบคู่ไปกับการใช้แชมพูที่อ่อนโยน และใช้ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้น นอกจากนี้อาจมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น นวดหนังศีรษะเบา ๆ ขณะสระผม, รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ, ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และรักษามากกว่า 1 เดือน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง และเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมได้
ผมเสียจากการทำสี (Color-Treated Hair Damage)
เชื่อว่าปัญหาที่คนทำสีผมต้องเผชิญ คือผมเสียจากการทำสี จนทำให้ผมแห้ง ชี้ฟู ไม่มีน้ำหนัก ทั้งยังขาดหลุดร่วงได้ง่าย จนก่อความรำคาญใจให้ใครหลายคน โดยมีสาเหตุ ดังนี้
สาเหตุ:
- การใช้สารเคมีที่รุนแรง: การกัดผม หรือฟอกผม ถือเป็นการทำร้ายเส้นผมที่รุนแรง ซึ่งมีส่วนทำให้ผมเสียได้
- การทำสีผมบ่อย: เนื่องจากการทำสีผมเป็นการทำร้ายผมอย่างหนึ่ง ดังนั้น การทำสีผมบ่อย ๆ จึงทำให้หนังศีรษะระคายเคือง และมีปัญหาหนังศีรษะตามมาได้
อาการ:
อาการของผมเสียจากการทำสีที่สังเกตเห็นได้ชัดคือผมแห้ง ผมแตกปลาย และสีผมซีดจาง นอกจากนี้ยังลีบแบน แข็งทื่อ และขาดง่ายอีกด้วย กล่าวคือ ผมจะสุขภาพไม่ดี จนทำให้ดูไม่สวยงาม และทำให้หลายคนเสียความมั่นใจ
วิธีรับมือและดูแล:
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาผมเสียจากการทำสี เบื้องต้นคือเลี่ยงการทำสีบ่อย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาผมเสีย ควบคู่ไปกับการทรีตเมนต์ ซึ่งจะช่วยบำรุงเส้นผมให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง หรือในกรณีที่ต้องการทำสีผม แนะนำให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับทำสีผม ที่เหมาะสมกับสภาพผมของแต่ละบุคคล พยายามหลีกเลี่ยงสารเคมีที่รุนแรง
สรุป
ผมบาง ผมร่วง ผมเสีย รวมถึงปัญหาเส้นผมอื่น ๆ ถือเป็นปัญหากวนใจสำหรับใครหลายคน ทั้งยังเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ดังนั้น เพื่อให้เส้นผมแข็งแรงและมีสุขภาพที่ดี ควรมีการดูแลเส้นผมอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่การเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับเส้นผมของแต่ละคน, สระผมอย่างถูกวิธี, เลือกใช้ความร้อนที่เหมาะสมกับเส้นผม, เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์, ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น, ทานอาหารเสริมและวิตามินบำรุงเส้นผม, ทำทรีตเมนต์ พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เส้นผมสวยงาม เสริมความมั่นใจให้เส้นผมกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
บทความโดย
เราคือโรงพยาบาลศัลยกรรมด้านความงามของประเทศไทยและเอเชีย มีความต้องการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนเกี่ยวกับบริการศัลยกรรมด้านความงาม โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช ดูแลคุณตั้งแต่การให้คำปรึกษาไปจนถึงหลังการผ่าตัด โดยทีมแพทย์มากประสบการณ์ที่มีประสบการณ์ มอบบริการครบวงจรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ดำเนินการภายใต้มาตรฐานการรักษาพยาบาล ของโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการให้บริการสถานพยาบาลระดับสากล AACI
ข้อมูลการติดต่อโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช
ตั้งอยู่ที่ 99/19 ถนนสุไขทัย แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300